วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2559

แคนา-แคป่า ผักใกล้ครัวกินเป็นยาช่วงเปลี่ยนถ่ายฤดู

แคนา-แคป่า

ถ้าพูดถึงดอกแค หลายคนก็คงจะนึกถึงดอกแคสีขาวรูปวงพระจันทร์เสี้ยวที่รับประทานกันในแกงส้ม หรือนำมาลวกจิ้มกับน้ำพริก แต่ดอกแคที่เกษตรกรโฟกัสจะพูดถึงกันในฉบับนี้เป็นดอกแคนา และแคป่า  ที่มีรูปร่างลักษณะแตกต่างไปจากดอกแครูปวงพระจันทร์เสี้ยว โดยแคนาจะมีสีขาวมีลักษณะดอกออกเป็นช่อ กลีบดอกและโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปแจกันสูง จะบานในตอนกลางคืน โดยเดือนที่ออกดอกอยู่ในช่วงเดือน ก.พ.-มิ.ย. ส่วนแคป่าจะมีสีเหลืองอมม่วงแดง ลักษณะดอกสั้นกว่าแคนา แต่รูปทรงคล้ายแตรเหมือนกัน
แคนา-แคป่า
แคนา-แคป่า เครดิต ระกำอบน้ำผึ้ง pantip



แคนามีชื่อพื้นบ้านอีสานว่า แค แคทุ่ง

มีชื่อเรียกทั่วไปได้แก่ แคขาว แคป่า แคนา ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dolichandrone serrulata (D.C.) Seem. วงศ์ : Bignoniaceae เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางความสูงประมาณ 10-20 เมตร มีใบประกอบคล้ายขนนก 3-4 คู่ ใบย่อยรูปไข่รี หรือเรียวแหลมยาว ดอกคล้ายรูปแตร ปลายบาน 5 กลีบ หยักไปมา ออกเป็นช่อตั้งปลายยอด มีสีขาว กลิ่นหอม ฝักกลมยาวประมาณ 15-40 ซม. เมล็ดปีก ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดที่ปลิวไปตามลม โดยเฉพาะตามริมน้ำ ป่าโปร่ง ท้องทุ่งนา

การนำแคนามาใช้ประโยชน์

ได้แก่การนำมาบริโภคเป็นผัก ซึ่งจะนิยมนำดอกมาลวกกินกับน้ำพริกเช่นเดียวกับผักพื้นบ้านชนิดอื่นๆ ให้รสหวาน ขม ส่วนสรรพคุณทางยาทั่วไป ใบ นำมาตำพอกบาดแผล หรือต้มเอาน้ำบ้วนปาก ดอก ช่วยขับเสมหะ ขับลม เปลือก ใช้แก้อาการท้องเฟ้อ ใช้กับสตรีหลังคลอด เมล็ด ใช้เป็นยาแก้ปวดประสาท แก้โรคชัก ราก แก้เสมหะ ขับลม และบำรุงโลหิต
ส่วน แคป่า จะมีลักษณะที่แตกต่างจากแคนาคือ มีก้านดอกสั้นกว่าทรงแตรที่ป่องกว่าสีดอกด้านในมีสีเหลืองอ่อน กลีบดอกติดกันเป็นท่อ ปลายขยายออกเป็นรูประฆัง ด้านนอกมีลักษณะสีม่วงอมแดง บานตอนกลางคืน ดอกเช้าก็จะล่วงและมีรอยแตก มีชื่อวิทยาศาสตร์ Dolichandrone Spathacea schum. วงศ์ Bignoniaceae ชื่ออื่นๆ บางพื้นถิ่นก็เรียกว่า แคนา ระยะออกดอก เดือนมีนาคม-มิถุนายน ส่วนใหญ่จะพบตามป่า และทุ่งนา นิยมนำมาทำลวกจิ้มน้ำพริก กินกับลาบ แกงส้ม และเมฯเด็ดอย่างหมกปลา หรืออั่วปลา เป็นอาหารพื้นบ้านทางภาคอีสานที่นิยมมากอีกเมฯหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นดอกแคชนิดใด ก่อนจะนำมารับประทานควรจะกำจัดความขมด้วยการนำก้านชูเกสรที่อยู่ในดอกทิ้งก่อน ทั้งนี้คนไทยเชื่อกันว่าดอกแคมีสรรพคุณทางยา ช่วยแก้ไข้ รวมไปถึงอุดมไปด้วยสารอาหารต่างๆ โดยเฉพาะเบต้าแคโรทีนที่ร่างกายสามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอได้ แคจึงช่วยบำรุงสายตา และต้านมะเร็ง อีกทั้งช่วยเสริมสร้างกระดูก และมีแคลเซียมฟอสฟอรัสสูง
ด้วยดอกแค ทั้งแคขาว แคนา แคป่าเป็นพืชอาหารที่ปลูกง่าย ออกดอกตลอดปี และเป็นยาเย็น เนื่องจากมีรสขม ตามหลักการแพทย์แผนไทยบอกไว้ว่า ฤดูร้อน ธาตุไฟจะมาก ถ้าจะดับร้อนด้วยอาหาร ก็ต้องรับประทานอาหารที่มีรสขมหรือรสเย็น ทั้งพืชผักและผลไม้ นำมาปรุงเป็นอาหารหรือเครื่องดื่ม รสขมช่วยกระตุ้นให้เจริญอาหาร และช่วยอาการครั่นเนื้อครั่นตัวที่เกิดจากความร้อน ช่วยลดไข้ได้ดี
นอกจากเกษตรกรโฟกัสจะแนะนำให้รู้จักดอกแคอีก 2 ชนิด ที่นิยมรับประทานกันเฉพาะพื้นถิ่นแล้ว ยังมีสูตรการทำหมกหมูสไตล์ชาวไทยพวนจังหวัดอุทัยธานีมาให้ผู้อ่านได้ลองนำไปทำรับประทานกันดู นอกจากหมูแล้ว ปลาก็สามารถนำมาหมกในดอกแคป่าได้เช่นกัน
หมกหมูดอกแคป่า
ส่วนผสม หมูบด น้ำพริกแกงเผ็ด ข้าวเบือ (ข้าวที่ได้จากการนำข้าวเหนียว หรือข้าวจ้าวแช่น้ำจนอิ่มแล้วนำไปตำให้ละเอียด) ช่วยเพิ่มความเหนียวหนืดให้อาหาร
วิธีทำ นำหมูบด ผสมกับพริกแกง ข้าวเบือ คนให้เข้ากัน จากนั้นปรุงรสด้วยน้ำปลา ยัดใส่ในดอกแคป่า นำไปนึ่งไฟจนหมูสุก ยกลงเสริฟพร้อมข้าวเหนียวร้อนๆ ก็ได้รสชาติแปลกและอร่อยที่มีรสขมของแคผสมอยู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น